ทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทั่วไป “ตราสารหนี้”

ตราสารหนี้ คือ อะไร?

ตราสารหนี้ (Bond) คือ ตราสารทางการเงินประเภทหนึ่ง ในรูปของสัญญาทางการเงินระหว่างผู้ออกตราสารหนี้ และ ผู้ถือตราสารหนี้ ตราสารหนี้ต้องมีกำหนดอายุและอัตราดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์อื่นใดเป็นจำนวนที่แน่นอน โดยระบุวันที่ชำระดอกเบี้ยและเงินต้นล่วงหน้า ตั้งแต่เมื่อออกตราสารนั้น ซึ่งถ้าตราสารนั้นออกโดยภาครัฐก็เรียกว่า พันธบัตร แต่ถ้าออกโดยภาคเอกชน ที่คุ้นเคยกันดีก็คือ หุ้นกู้

ผู้ออกตราสารหนี้ คือ ผู้ที่ต้องการระดมเงินทุน โดยขอกู้จากผู้ที่ซื้อตราสารหนี้ ดังนั้น ผู้ออกตราสารหนี้จะมีสถานะเป็น ลูกหนี้ ส่วนผู้ซื้อ จะมีสถานะเป็นผู้ให้กู้ หรือ เจ้าหนี้ นั่นเอง ซึ่งแตกต่างจากตราสารทุนหรือหุ้นสามัญที่ผู้ออกตราสารทุนนั้น ลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้น และมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการนั้นๆ ไม่ใช่เจ้าหนี้

ลักษณะการออกตราสารหนี้แบ่งเป็น 2 แบบ            ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรใดเป็นผู้ออก ถ้าเป็นองค์กรภาครัฐการออกตราสารหนี้ในตลาดแรกจะเป็นการออกแบบประมูล โดยให้สถาบันการเงินเข้าประมูลรับซื้อไป ยกเว้นการออกพันธบัตรออมทรัพย์จะออกจำหน่ายโดยตรงกับประชาชน สำหรับวงเงินที่ออกเสนอขายจะได้รับอนุมัติจากหน่วยงานที่กำกับดูแล เช่น การออกพันบัตรรัฐบาลหรือพันธบัตรออมทรัพย์นั้น กระทรวงการคลังจะเป็นผู้อนุมัติวงเงิน สำหรับการออกหุ้นกู้ภาคเอกชน เมื่อองค์กรใดสนใจที่จะระดมเงินทุนโดยการออกหุ้นกู้ บริษัทอาจจ้างที่ปรึกษาทางการเงินในการแนะนำการออกแบบลักษณะหุ้นกู้ ให้สอดคล้องกับโครงสร้างทางการเงินของบริษัท หลังจากนั้น จะต้องแจ้งความจำนงในการออกหุ้นกู้ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่ออนุมัติการออกแบบและเสนอขาย และในช่วงการเสนอขายหุ้นกู้นั้น ผู้ออกจะต้องทำการแต่งตั้งตัวแทนการจำหน่ายหุ้นกู้ ซึ่งก็คือธนาคารพาณิชย์นั่นเอง

การลงทุนในตราสารหนี้นั้น นับเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทั่วไป เพราะนักลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนด อาจจะกล่าวได้ว่า นักลงทุนในตราสารหนี้ แบกรับความเสี่ยงไม่มากนักหากเทียบกับการลงทุนในทางเลือกอื่นๆ ซึ่งขาดความสม่ำเสมอในกระแสเงินสดที่นักลงทุนจะได้รับ อีกทั้ง ตั้งแต่เมื่อมีการออกตราสารนั้นและในระหว่างที่ยังไม่ครบกำหนดอายุ หรือวันไถ่ถอน ตราสารหนี้นั้นยังสามารถซื้อขายโอนเปลี่ยนมือกันได้อีกด้วย

การลงทุนในตราสารหนี้สามารถลงทุนได้ 2 ช่องทาง คือ ตลาดแรก และตลาดรอง

ตลาดแรก เป็นตลาดสำหรับการซื้อขายตราสารหนี้ที่ออกจำหน่ายครั้งแรก เช่น พันธบัตรออมทรัพย์ วงเงินสำหรับการจองซื้อตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป และหุ้นกู้เอกชน วงเงินสำหรับการจองซื้อตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป ถ้านักลงทุนสนใจก็สามารถจองซื้อได้ที่ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นตัวแทนจำหน่าย

ตลาดรอง คือตลาดสำหรับการซื้อขายตราสารหนี้ที่เคยออกจำหน่ายมาแล้ว โดยเป็นการซื้อขายเปลี่ยนมือระหว่างนักลงทุนด้วยกันเอง สามารถซื้อขายได้ที่ ตลาดตราสารหนี้ BEX เงินลงทุนขั้นต่ำประมาณ 100,000 บาท หรือ 100 หน่วย วิธีการซื้อขายคล้ายหุ้นสามัญ โดยเป็นการซื้อผ่านเจ้าหน้าที่การตลาดของบริษัทหลักทรัพย์ วิธีการซื้อเป็นแบบจับคู่อัตโนมัติ แต่หากเป็นการซื้อขายที่มีมูลค่าตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือ 10,000 หน่วยขึ้นไป จะเป็นการซื้อขายแบบรายใหญ่หรือการซื้อขายบนกระดานใหญ่ การซื้อขายจะมีการเสียค่าธรรมเนียมซื้อขายในอัตราที่ต่อรองได้ แก่บริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ โดยราคาตราสารหนี้ในตลาดตราสารหนี้ BEX จะเป็นราคาที่สะท้อนถึงความต้องการของนักลงทุนจริงๆ เพราะผู้ซื้อและผู้ขายเป็นผู้กำหนดราคาตราสารหนี้เองโดยอิงจากราคาตลาด ณ ขณะนั้น หรือสำหรับนักลงทุนที่ไม่คุ้นเคยกับการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองด้วยตนเอง หรือไม่มีเวลา ก็สามารถพิจารณาการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ซึ่งกองทุนจะเป็นตัวกลางพาผู้ลงทุนไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างๆ ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนได้ตามนโยบายกองทุนที่ได้ประกาศไว้

credit : http://www.moneyandbanking.co.th/moneytips.php?isb=isb006&newsID=274

Leave a comment